|
พิธีการแต่งงานแบบจีน |
พิธีแต่งงานแบบจีน เริ่มจาก
แม่สื่อแม่ชัก แม่สื่อในสมัยก่อนจะมีบทบาทมากในการจับคู่ซึ่งจะต้องเป็นคนที่กว้างขวางพอสมควร แต่ในสมัยนี้มีความจำเป็นน้อยมาก เพราะโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้เจอกันมีมากขึ้น เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วตามทำเนียมทางฝ่ายชายจะจัดการให้ซินแสผูกดวงและกำหนดฤกษ์ยาม

เครื่องขันหมากเจ้าบ่าว
นอกจากสินสอดทองหมั้นที่รู้กันดีอยู่แล้วเจ้าบ่าวยังต้องเตรียมเครื่องขันหมาก ซึ่งเจ้าสาวจะเป็นคนเรียกโดยทั่วไปนิยมส้มเช้งผลเขียว ๆ ติดด้วยกระดาษแดงที่เป็นตัวหนังสือจีน "ซังฮี่" แปลว่า ยินดี ไว้ทุกผลจัดเป็นคู่ 44 , 84 หรือร้อยกว่าผลก็ได้ บางบ้านก็ใช้เป็นชุดหมูสด ๆ และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั้นคือ ขนมขันหมากหรือขนมแต่งงานจำพวกขนมเปี๊ยะ ถั่วตัด ข้าวพอง ฯลฯ เอาไว้แจกให้ญาติ ๆ ถือว่าเป็นการบอกข่าวดี แต่ ปัจจุบันนี้ได้มีการประยุกต์เป็นขนมคุกกี้เพราะหาซื้อง่าย และมีรสอร่อยอีกด้วย อย่างสุดท้ายที่ต้องเตรียมคือ ซอง 4 ซอง เพื่อนำไปให้กับฝ่ายหญิงเป็นค่าแต่งหน้าทำผม เสื้อผ้า และทุนตั้งตัว
วันยกขันหมาก
เจ้าบ่าวจะยกสินสอดและทองหมั้นมามอบให้เจ้าสาวฝ่ายเจ้าสาวจะเก็บขนมไว้ครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวจะเก็บเอาไว้พร้อมส้มเช้งที่ติดตัวอักษร "ซังอี่" เป็นคู่กับเอี๊ยมแดงที่มีปิ่นทองเสียบอยู่ เพราะในวันรุ่งขึ้นเจ้าบ่าวจะนำมาเสียบให้เจ้าสาวก่อนออกจากบ้าน โดยฝ่ายเจ้าสาวจะให้กล้วยทั้งเครือกับเจ้าบ่าวเพิ่มไปด้วยเพื่อเป็นเคล็ดจะได้มีลูกหลานเต็มบ้านไว้สืบสกุล เมื่อเสร็จสิ้นขบวนขันหมากก็ได้ฤกษ์งามยามดีเพื่อสวมแหวนหมั้นต่อหน้าผู้ใหญ่ให้ศีลให้พรกินเลี้ยงกันตามประเพณีก็ถือเป็นอันจบพิธี
เครื่องขันหมากเจ้าสาว
เริ่มจากเอี๊ยมแต่งงานซึ่งเป็นเอี๊ยมสีแดงกระเป๋าเอี๊ยมบรรจุห่อเมล็ดพืช 5 ชนิด หมายถึงความเจริญงอกงามเจริญรุ่งเรืองมีลูกหลานไว้สืบสกุลพร้อมต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวง จำนวน 2 ต้น หมายถึงเกียรติยศและปิ่นทองที่ทำเป็นตัวลายภาษาจีนว่า "ยู่อี่" แปลว่า สมปรารถนา เสียบไว้โดยให้ปลายโผล่พ้นขอบกระเป๋าขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีเชือกแดงสำหรับผูกเอี๊ยมมีตัวหนังสือ "ซังอี้" แปลว่า คู่ยินดีมีแผ่นหัวใจสีแดงสำหรับติดเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเพชร ซึ่งจะมีมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าสาว
เครื่องหน้าหอ
ก็จะเป็นเงินทอง เครื่องประดับ ทรัพย์สินที่พ่อแม่ให้เจ้าสาวไว้ติดตัว เจ้าสาวสมัยนี้อาจขอของใช้หรือทรัพย์สินอื่น เช่น โทรทัศน์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
เครื่องในหอ คือ ของใช้ส่วนตัวของเจ้าสาว ได้แก่
- กระจก กรรไกร ด้าย เข็ม
- กะละมัง กระป๋องน้ำ กระโถน
- หวีสี่เล่ม เอาเคล็ดว่าให้เงินทองไหลมาเทมา เพราะคำว่าหวีสี่เล่มในภาษาจีน คือ "ซี้ซี้อู่หอซิว" แปลว่าได้รับทรัพย์ทุกเวลา
- พัดแดง มีความหมายว่าให้พัดแต่สิ่งดี ๆ เข้ามา
- แผ่นหัวใจสีแดง สำหรับติดเครื่องประดับที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงมอบให้เป็นของขวัญแก่ลูกสาว
- เครื่องแต่งห้องหอ ได้แก่ เครื่องเรือนต่าง ๆ และยังมีถาดจัดเป็นคู่ตะเกียบ ชุดน้ำชา หมอนหนุนและหมอนข้างอย่างละ 1 คู่ ซึ่งในสมัยก่อน พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะซื้อโลงศพ ให้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งห้องหอด้วย เพื่อแสดงว่าพ่อแม่จะรับผิดชอบต่อลูกสาวจนตลอดชีวิตแต่ต่อมาเห็นว่าไม่เป็นมงคลจึงเลิกไป ส่วนเครื่องนอนนั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายชายจัดหาเนื่องจากการแต่งงานตามธรรมเนียมจีนเป็นการแต่งสะใภ้เข้าบ้าน
วันแห่งความสุขวันแต่งงาน
พอถึงฤกษ์เจ้าบ่าวพร้อมขบวนญาติพี่น้องทางฝ่ายชายจะนั่งรถคันโก้ผูกโบว์สีชมพูที่กระโปรงรถเพื่อมารับเจ้าสาว เมื่อมาถึงก็จะมีญาติ ๆ ฝ่ายหญิงรอต้อนรับ แต่กว่าจะได้มาถึงตัวเจ้าสาวนั้นต้องผ่านด่านประตูเงิน ประตูทอง โดยพี่เลี้ยงของเจ้าบ่าวต้องคอยให้ อั่งเปา ค่าผ่านทาง เพื่อที่เจ้าบ่าวจะได้ไปหาเจ้าสาว ที่นั่งรอเจ้าบ่าวอยู่ในห้อง ซึ่งเป็นช่วงที่สร้างรอยยิ้มความสนุกสนาน ให้กับญาติพี่น้องและแขกที่เข้ามาร่วมในงาน เป็นอย่างมาก และทันทีที่บ่าวสาวเข้ามาในบ้าน จะต้องไหว้ฟ้าดินไหว้เจ้าที่ไหว้บรรพบุรุษ ต่อด้วยคู่สามีภรรยาใหม่ต้องทำการ "ขั่งเต๊" หรือยกน้ำชาให้กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว โดยทั้งสองต้องคุกเข่าลง พร้อมกับรินน้ำชาใส่ถ้วยวางบนถาดแล้วส่งให้ผู้ใหญ่ ซึ่งท่าน จะดื่มแล้วให้ศีลให้พรและให้เงินทองเพื่อเป็นทุนตั้งตัวเสร็จพิธียกน้ำชาคู่บ่าวสาว จึงกินขนมบัวลอยไข่หวาน ทั้งนี้เชื่อว่า การรับประทานบัวลอย เป็นการอวยพรให้ชีวิตคู่มีความกลมเกลียวทำสิ่งใดก็จะลุล่วงไปได้ด้วยดี (อย่างไรก็ตามบางบ้านอาจมีการตั้งโต๊ะ ให้คู่บ่าวสาวกินอาหารมงคล 10 อย่างก่อน แล้วจึงไหว้ลาพ่อแม่ไปขึ้นรถแต่งงาน) ในระหว่างทำพิธีบรรดาญาติ ๆ จะมาร่วมรับประทานขนมบัวลอยรอเจ้าบ่าวและเจ้าสาวกัน
สำหรับญาติฝ่ายเจ้าสาว ที่ตามมาส่งเจ้าสาวถึงบ้านเจ้าบ่าว จะต้องเป็นกลุ่มผู้ชายล้วนเช่นกัน ฝ่ายเจ้าสาวจะต้องเตรียมตะเกียง สำหรับจุดให้แสงมาให้ญาติที่เป็นผู้ชาย ของฝ่ายหญิงเดินถือนำหน้าขบวนพาเจ้าสาวมาขึ้นรถ การจุดตะเกียงนี้หมายถึงการให้ชีวิตคู่ให้มีแต่ความสว่างไสว และถือเคล็ดว่าให้มีลูกชายเป็นผู้สืบสกุล พร้อมกันนี้ยังต้องจัดกระเป๋าสีแดงซึ่งภายในบรรจุทรัพย์สินเงินทองที่ พ่อแม่เจ้าสาวจะให้เจ้าสาวได้นำติดตัวไปสร้างครอบครัว นอกจากนั้นฝ่ายเจ้าสาว ยังต้องเตรียมกาน้ำชาและชุดยกน้ำชาสำหรับพิธียกน้ำชาพร้อมด้วยเชิงเทียนสีแดง 1 คู่ เพื่อความเป็นสิริมงคลมาด้วย
เมื่อเจ้าสาวมาถึงบ้าน เจ้าบ่าวญาติผู้ชาย ฝ่ายเจ้าสาวจะนำตะเกียงไปวางไว้ในห้องหอและจุดทิ้งไว้ข้ามคืน โดยฝ่ายเจ้าบ่าวต้องให้อั่งเปาซองใหญ่กับผู้ที่นำตะเกียงมา เพราะถือว่าเป็นพิธีสำคัญ (ปัจจุบันนิยมประยุกต์ใช้เป็นตะเกียงแบบเสียบปลั๊กแทน) หลังจากนั้นจึงออกมาประกอบพิธีแต่งงานด้านนอก ส่วนช่วงเย็นจะจัดงานเลี้ยงฉลองตามธรรมเนียม
คู่รักใหม่กลับไปเยี่ยมบ้าน
หลังวันแต่งงาน 3 วัน 7 วัน หรือ 15 วัน แล้วแต่ฤกษ์ก็ถึงคราวที่ญาติหนุ่ม ๆ ของฝ่ายเจ้าสาวจะมารับตัวเจ้าสาวกลับไปเยี่ยมบ้าน พร้อมกับเขยคนใหม่ ที่เรียกว่า "ตึ่งฉู่" เจ้าสาวต้องเตรียมส้ม 12 ผล ใส่ถาดติดไม้ติดมือกลับไปด้วย เมื่อไปถึงบ้านของฝ่ายหญิง ก็ต้องทำพิธียกน้ำชา ให้กับพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเช่นกัน ผู้ใหญ่ก็จะให้พรและมอบทรัพย์สินเพื่อเป็นของขวัญในการตั้งตัว จากนั้นจะมีงานเลี้ยงต้อนรับลูกเขย จึงเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงานอย่างแท้จริง
|
|
|
|